มะขาม
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tamarindus indica L.
ชื่อสามัญ : Tamarind, Indian date
วงศ์ : Leguminosae - Caesalpinioideae
ชื่ออื่น : ขาม (ภาคใต้) ตะลูบ(ชาวบน-นครราชสีมา) ม่องโคล้ง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) อำเปียล (เขมร-สุรินทร์) หมากแกง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) ส่ามอเกล (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์: ไม้ต้นขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่แตกกิ่งก้านสาขามาก เปลือกต้นขรุขระและหนา สีน้ำตาลอ่อน ใบ เป็นใบประกอบ ใบเล็กออกตามกิ่งก้านใบเป็นคู่ ใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบและโคนใบมน ดอก ออกเป็นช่อเล็กๆ ตามปลายกิ่ง หนึ่งช่อมี 10-15 ดอก ดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบดอกสีเหลืองและมีจุดประสีแดงอยู่กลางดอก ผล เป็นฝักยาว รูปร่างยาวหรือโค้ง ยาว 3-20 ซม. ฝักอ่อนมีเปลือกสีเขียวอมเทา สีน้ำตาลเกรียม เนื้อในติดกับเปลือก เมื่อแก่ฝักเปลี่ยนเป็นเปลือกแข็งกรอบหักง่าย สีน้ำตาล เนื้อในกลายเป็นสีน้ำตาลหุ้มเมล็ด เนื้อมีรสเปรี้ยว และหวาน
ส่วนที่ใช้ : ราก เปลือก ทั้งต้น แก่น ใบ เนื้อในฝัก ฝักดิบ เมล็ด เปลือกเมล็ด ดอกสด
สรรพคุณ :
ราก - แก้ท้องร่วง สมานแผล รักษาเริม และงูสวัด
เปลือกต้น - แก้ไข้ ตัวร้อน
แก่น - กล่อมเสมหะ และโลหิต ขับโลหิต ขับเสมหะ รักษาฝีในมดลูก รักษาโรคบุรุษ เป็นยาชักมดลูกให้เข้าอู่
ใบสด (มีกรดเล็กน้อย) - เป็นยาถ่าย ยาระบาย ขับลมในลำไส้ แก้ไอ แก้บิด รักษาหวัด ขับเสมหะ หยอดตารักษาเยื่อตาอักเสบ แก้ตามัว ฟอกโลหิต ขับเหงื่อ ต้มผสมกับสมุนไพรอื่นๆ อาบหลังคลอดช่วยให้สะอาดขึ้น
เนื้อหุ้มเมล็ด - แก้อาการท้องผูก เป็นยาระบาย ยาถ่าย ขับเสมหะ แก้ไอ กระหายน้ำ เป็นยาสวนล้างท้อง
ฝักดิบ - ฟอกเลือด และลดความอ้วน เป็นยาระบายและลดอุณหภูมิในร่างกาย บรรเทาอาการไข้
เมล็ดในสีขาว - เป็นยาถ่ายพยาธิไส้เดือนตัวกลมในลำไส้ พยาธิเส้นด้าย
เปลือกเมล็ด - แก้ท้องร่วง แก้บิดลมป่วง สมานแผลที่ปาก ที่คอ ที่ลิ้น และตามร่างกาย รักษาแผลสด ถอนพิษและรักษาแผลที่ถูกไฟลวก รักษาแผลเบาหวาน
เนื้อในฝักแก่ (มะขามเปียก) - รับประทานจิ้มเกลือ แก้ไอ ขับเสมหะ
ดอกสด - เป็นยาลดความดันโลหิตสูง
วิธีและปริมาณที่ใช้ :
เป็นยาถ่ายพยาธิไส้เดือน ตัวกลม ตัวเส้นด้าย ได้ผลดี
ใช้เมล็ดคั่วกะเทาะเปลือกออก แล้วเอาเนื้อในเมล็ดแช่น้ำเกลือจนนุ่ม รับประทานเนื้อทั้งหมด ครั้งละ 20-30 เมล็ด
เป็นยาระบาย ยาถ่าย
- ใช้เนื้อที่หุ้มเมล็ด (มะขามเปียก) แกะเมล็ดแล้วขนาด 2 หัวแม่มือ (15-30 กรัม) จิ้มเกลือรับประทาน แล้วดื่มน้ำตามมากๆ
- เอามะขามเปียกละลายน้ำอุ่นกับเกลือ ฉีดสวนแก้ท้องผูก
แก้ท้องร่วง
-เมล็ดคั่วให้เกรียม กะเทาะเปลือกรับประทาน
-เปลือกต้น ทั้งสดและแห้ง ประมาณ 1-2 กำมือ (15-30 กรัม) ต้มกับน้ำปูนใส หรือ น้ำ รับประทาน
รักษาแผล
เมล็ดกะเทาะเปลือก ต้ม นำมาล้างแผลและสมานแผลได้
แก้ไอและขับเสมหะ
ใช้เนื้อในฝักแก่ หรือมะขามเปียก จิ้มเกลือรับประทานพอควร
เป็นยาลดความดันสูง
ใช้ดอกสด ไม่จำกัดจำนวน ใช้แกงส้มหรือต้มกับปลาสลิดรับประทาน
ที่มา http://www.rspg.or.th/
มะขาม เป็นยาดีและเครื่องสำอางชั้นยอด
มะขาม หรือ Tamarind เป็นพืชพื้นบ้านไทยที่ส่วนใหญ่ใช้ปรุงอาหาร ยกเว้นมะขามหวานที่ทานสด แต่มะขามเปรี้ยวถูกนำมาใช้ประโยชน์มากกว่า เพราะความเปี้ยวนั่นเองที่ทำกับข้าวได้อร่อยได้รสชาติต่างจากน้ำมะนาว
ในมะขามอุดมด้วยวิตามินบี 2 แคลเซียม ฟอสฟอรัส โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และยังมีกรดผลไม้หลายชนิดเช่น กรดซิตริก กรดทาทาริค เป็นต้น ที่สำคัญมีวิตามินเอ วิตามินซีสูง มะขามนอกจากจะใช้ปรุงอาหารแล้ว ยังมีฤทธิ์เป็นยา คนที่เป็นหวัดนานๆ ไม่หายสักทีลองรับประทานมะขามดูสัก 2-3 ฝัก หรือทำน้ำมะขามดื่ม รับรองหายไข้ เพราะมีสรรพคุณลดอุณหภูมิในร่างกายได้ดี หวัดหายเป็นปลิดทิ้ง แถมยังทำให้ชุ่มคอชื่นใจ หายเจ็บคอ ช่วยขับเสมหะอีกต่างหาก เหมาะมากกับช่วงฤดูฝนเช่นนี้ นอกจากนี้มะขามยังเป็นยาระบายที่ดีอีกด้วย
มาถึงวันนี้ความลับอันทรงคุณค่าของมะขามเพิ่งถูกค้นพบและดึงออกมาเป็นจุดเด่นใหม่ คือมะขามอุดมด้วยสาร AHA (Alpha hydroxyl acids) คือกรดผลไม้ เหมือนที่มีในแอปเปิ้ล องุ่น กระทั่งในนมก็มี สรรพคุณของ AHA คือช่วยขจัดเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพให้หลุดลอกออกไปเร็วเผยผิวใหม่ที่สดใสกว่าเดิม ยิ่งในมะขามอุดมด้วยวิตามินซีมากก็จะช่วยบำรุงผิวด้วยอีกทางหนึ่ง คนไทยสมัยก่อนจึงนิยมนำน้ำมะขามเปียกคั้นแล้วมาทาใบหน้าทิ้งไว้สักพัก แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาดก็จะได้ผิวหน้านุ่ม ใส ไร้สิว ปัจจุบันธุรกิจเครื่องสำอางที่กำลังเน้นไปที่การใช้สมุนไพรไทยเป็นจุดขาย จึงหันมาจับมะขามใส่หลอดแล้วจำหน่ายในรูปแบบของครีมล้างหน้า หรือครีมพอกหน้า บ้างก็ผสมไปกับขมิ้นชัน และน้ำผึงเพื่อเพิ่มสรรพคุณบำรุงผิว แต่ก็มีข้อควรระวังสำหรับคนที่ใช้มะขามบำรุงผิวหน้าคือระวัง เข้าตา กรดในมะขามทำให้แสบตาได้แบบไม่ลืมเลย สำหรับบางคนอาจจะแพ้สารในมะขามได้บ้าง โดยจะรู้สึกผิวแสบร้อนแบบนี้ก็ไม่ควรใช้
มะขามพืชไทยราคาถูก เปี่ยมสรรพคุณทรงคุณค่า ใช้ได้ทั้งกินทั้งทา สารพัดประโยชน์เช่นนี้ คงต้องรีบซื้อหามาติดบ้านไว้ หรือไปหามาปลูกสักต้นก็ไม่เลว
ที่มาข้อมูล :นิตยสาร Health Today